โปรเจคในฝัน สายไฟฟ้า และสายเคเบิลใต้ดิน


13/Jun/2021
Telecommunication Network

    หลายปีก่อนได้เดินทางไปทำงานร่วมงานกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งในประเทศพม่า ระหว่างการเดินทางในเมืองย่างกุ้งนั้น สิ่งที่เราสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือ ความสบายตาระหว่างทาง ไม่มีเสาไฟฟ้าที่รกรุงรัง สายไฟ้ฟ้า หรือสายเคเบิลพันกันไปมา อย่างที่เรา ๆ เห็นกันจนชินตา พอได้เห็นเราก็เกิดความสงสัย และเอ่ยปากถามพี่คนขับแท็กซี่ว่าในเมืองย่างกุ้งนี้เสาไฟฟ้าหายไปไหนคะ พี่คนขับแท็กซี่รีบตอบ รีบ Present อย่างภาคภูมิใจว่า ทางรัฐบาลพม่าได้จัดการเอาสายไฟ และสายเคเบิลลงใต้ดินหมดแล้วครับ ทำแล้วทำให้เมืองดูสวยงาม สบายตา และเป็นหน้าเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศเขา ผลกระทบอย่างเดียวคือ เมื่อถึงเวลาต้อง Maintenance จะต้องขุดดินลงไปลึกเลยทีเดียว

    ทีนี้เราก็เกิดคำถามว่าในบ้านเรา ประเทศไทยนั้นมีปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์ ความปลอดภัยสำหรับประชาชน หรือสิ่งที่เจอบ่อยตอนที่ทำแผน Improve Network ก็คือ วิศวกรภาคสนามของบริษัทอื่นตัดสาย Fiber ผิดเส้นค่ะ ส่งผลกระทบให้ Fiber ของบริษัทที่เราทำงานอยู่ Crack หรือ ขาด ส่งผลกระทบต่อระบบโครงข่ายที่บริษัทให้บริการ

    วันนี้ผู้เขียนอยากรวบรวมข้อมูลการนำสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดิน ว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่ได้ดำเนินการ แล้วหรือมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคต

    หน่วยงานที่ดำเนินการโครงการนี้คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นั่นเองค่ะ มาค่ะ จังหวัดแรกที่ริเริ่มทำ ก็คือ จังหวัดตรัง โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2562 (ใช้เวลาไปถึง 17 ปี เพราะจะต้องทยอยทำไปค่ะ เป็นงานที่ไม่สามารถทำเสร็จได้ใน 1-2 ปี อย่างแน่นอน) การฝังนั้น จะฝังสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดินลงไปลึก 4-5 เมตร

    จังหวัดตรังถือเป็นจังหวัดที่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

    แผนการดำเนินการยังไม่หยุดแค่นี้ค่ะ

    จังหวัดนครพนมถือเป็นจังหวัดแรกในภาคอีสานที่เริ่มดำเนินโครงการเอาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดิน ในปี 2562 พื้นที่ที่ดำเนินการจะเป็นบริเวณรอบองค์พญาศรีสัตตนาคราช ริมแม่น้ำโขงค่ะ

    ในปี 2562 รัฐบาลได้มีนโยบายในให้กระทรวงมหาดไทย กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) และ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการนำสายไฟ และสายเคเบิลย่านเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ลงใต้ดิน

    ยังมีโครงการเอาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดินอีกหลายจังหวัด ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว อย่างเช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ภูเก็ต อ.หาดใหญ่ สงขลา เมืองพัทยา ชลบุรี ระยอง ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา (ที่โคราชผู้เขียนได้ไปเจอบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ก็มีการเอาสายไฟฟ้า และสายเคเบิลลงดินแล้ว) เป็นต้น

    ประโยชน์ของการนำสายไฟฟ้า และสายเคเบิลหรือสายสื่อสารลงใต้ดิน

ขอบคุณรูปภาพตัวอย่างทัศนียภาพจาก: https://www.pmdu.go.th/move-wire-to-underground/

  • ทัศนียภาพที่ดีขึ้น สวยงามมากขั้น
  • ส่งเสริมให้ระบบนำจ่ายไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น ลดปัญหาไฟฟ้าตก
  • รองรับการใช้งานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากระบบสายไฟฟ้าใต้ดินนั้นมีประสิทธิภาพในการส่งกระแสไฟฟ้าดีกว่าสายไฟฟ้าบนดิน
  • ลดปัญหาไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุ หรือจากสัตว์ต่าง ๆ เช่น กระรอก เป็นต้น
  • ช่วยลดอุบัติเหตุจากการชนเสาไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุ เกิดไฟฟ้าดับสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน หรือโรงพยาบาล และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของการไฟฟ้า

    ในมุมของคนทำงานด้าน Network สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงเมื่อมีระบบสายไฟฟ้า และสายเคเบิลใต้ดิน

  • การออกแบบแนวสายไฟฟ้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงสายจากบริเวณที่มีการก่อสร้างบ่อย หรือวางแผนการทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าบริเวณนี้มีสายไฟฟ้า หรือสายเคเบิลใต้ดินอยู่ รวมทั้งต้องมีการประสานงานระหว่างเจ้าของโครงการก่อสร้างกับการไฟฟ้าอย่างชัดเจน เพื่อลดผลกระทบ
  • การเลือกประเภทของฉนวนของสาย ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมบ้านเรา อย่างเข่น ในพื้นที่ กทม. มีน้ำท่วมขังบ่อย อาจทำให้เจอปัญหาเกี่ยวกับความชื้นได้
  • การหาตำแหน่งการวางตู้ควบคุมที่เหมาะสม สำหรับแต่ละพื้นที่

ขอบคุณรูปภาพตัวอย่างตู้ควบคุมจาก: https://www.pmdu.go.th/move-wire-to-underground/

  • การออกแบบระบบโครงข่าย จะใช้โครงข่ายแบบ Mesh หรือแบบตาข่าย เพื่อไม่ให้มีกระทบต่อการใช้งานเมื่อมีการซ่อมบำรุง หรือเกิดปัญหาขึ้น


รูปโครงข่ายแบบ Mesh โดย MalakorAnn

  • วิศวกรที่ทำหน้าที่ดูแล หรือทำงานส่วนงานซ่อมบำรุง จะต้องมีการ Update ความรู้ ทักษะ ในการดูแล การซ่อมบำรุง เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้คนที่ทำงานหน้างาน อาจจะมีการเรียนรู้ในขั้นตอนการติดตั้ง หรือมีการจัดอบรมภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ระบบ Monitor ของระบบโครงข่ายสายไฟฟ้าและเคเบิลใต้ดินที่เหมาะสม

    การนำสายไฟฟ้า สายเคเบิลสื่อสารลงใต้ดินนั้น อาจจะยังไม่แพร่หลายในบ้านเรามากนัก เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของระบบพื้นฐานภายในประเทศ และเป็นการพัฒนาระบบพื้นฐานของประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ขอบคุณที่มาของข้อมูลประกอบบทความ            
https://board.postjung.com/1136596
https://today.line.me/th/v2/article/rLMWY0
https://www.pmdu.go.th/move-wire-to-underground/
https://www.isranews.org/thaireform-other-news/49508-over-head25.html