API คืออะไร?


11/Apr/2024
Avery it tech
Internet of Things

API ย่อมาจาก Application Programming Interface คือกลไกที่ทำหน้าที่เป็น ตัวกลาง เชื่อมต่อระหว่างซอฟต์แวร์เข้าด้วยกัน ช่วยให้ซอฟต์แวร์หนึ่งสามารถ ส่ง ข้อมูลหรือคำขอไปยังอีกซอฟต์แวร์หนึ่ง และ รับข้อมูลหรือผลลัพธ์กลับมา

เปรียบเสมือนร้านอาหารที่มี API เป็น พนักงานต้อนรับ และลูกค้าคือซอฟต์แวร์ส่วนแรกต้องการสั่งอาหาร แต่ไม่สามารถเข้าไปในครัวได้โดยตรง จึงต้องมีตัวกลางอย่างพนักงานต้อนรับ คอยทำหน้าที่รับออเดอร์จากลูกค้า และส่งต่อไปยังครัว เพื่อประกอบอาหาร และนำอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้า

โดยหลักการของ API ขั้นพื้นฐาน มีดังนี้

  1. ผู้ใช้ (Client) ส่ง คำขอ ไปยัง API
  2. API ตรวจสอบความถูกต้องของคำขอ และส่งต่อไปยังผู้ให้บริการ (Server)
  3. โปรแกรมผู้ให้บริการ ประมวลผลคำขอ และส่งข้อมูลหรือผลลัพธ์กลับมา
  4. API ส่ง ข้อมูลหรือผลลัพธ์ กลับไปยัง โปรแกรมผู้ใช้

เมื่อเข้าใจถึงหลักการแล้ว องค์ประกอบในการทำงานจึงต้องมี Endpoint ที่ใช้สำหรับการสื่อสาร จากนั้น Method วิธีการหรือคำสั่งที่ใช้ในการส่งคำขอ พร้อมกับ Parameters หรือข้อมูลที่ส่งไปพร้อมกับคำขอ จากนั้นจึงจะได้ Response ข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ส่งกลับมานั่นเอง

ยกตัวอย่างการทำงานของ API ที่เราต้องพบเจอทุกวันแต่อาจไม่รู้ว่านี่คือกลไกสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น

  • แอปพยากรณ์อากาศ จะใช้ API ในการดึงข้อมูลสภาพอากาศจากระบบของกรมอุตุนิยมวิทยา
  • แอปธนาคาร จะใช้ API เชื่อมต่อกับระบบธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ
  • เว็บไซต์และแอปขายของออนไลน์ต่าง ๆ คือใช้ API เชื่อมต่อกับระบบขนส่งเพื่อติดตามสถานะสินค้า

ดังนั้น API จึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างซอฟแวร์ ที่ช่วยให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ เป็นกุญแจสำคัญสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ช่วยให้สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่มีงานฟังก์ชันหลากหลาย โดยประหยัดเวลาและทรัพยากรในการเขียนโปรแกรมใหม่ และทำให้ระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าการจะใช้ API เพื่อเป็นตัวกลางการเชื่อมต่อในแอปพลิเคชันต่าง ๆ นั้น ย่อมมีวิธีการและแนวทางที่ต่างกัน นักพัฒนาสามารถเลือกใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • REST API เป็นประเภทที่นิยมมากที่สุด ใช้ HTTP methods ในการสื่อสาร
  • GraphQL API ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถระบุข้อมูลที่ต้องการได้อย่างเจาะจง
  • SOAP API สำหรับการใช้ XML ในการสื่อสาร

เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้นในบทความหน้า Avery IT Tech จะอธิบายถึงข้อมูลเชิงของ API แต่ละประเภทให้ทุกท่านได้เรียนรู้ไปด้วยกันแน่นอน

ติดตามข่าวสารหรือสาระความรู้แวดวง IT ที่เข้าใจง่าย อ่านได้เพลิน ๆ ได้ที่ Avery IT Tech “เพราะเรื่อง IT อยู่รอบ ๆ ตัวคุณ”